วันอังคารที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2554

49 จังหวัดเสี่ยงธรณีสูบ รอยเลื่อนใหม่กาญจนบุรี กทม.สิ้นสุดบางพระชลบุรี

ผอ.สำนักธรณีวิทยาเตือนว่า
ในเมืองไทยพื้นที่ซึ่งมีโอกาสเสี่ยง เกิดแผ่นดินยุบตัว
หลังเกิดแผ่นดินไหว มีมากถึง 49 จังหวัด
จังหวัดที่มีโอกาสเกิดแผ่นดินยุบสูงมี 23 จังหวัด ได้แก่
กาญจนบุรี นครราชสีมา เพชรบูรณ์ สระแก้ว
ขอนแก่น นครสวรรค์ แม่ฮ่องสอน
สุโขทัย ฉะเชิงเทรา น่าน ระนอง สุราษฎร์ธานี ชัยนาท
ปราจีนบุรี ราชบุรี อุดรธานี ชุมพร
พะเยา ลำปาง อุทัยธานี เชียงใหม่ พัทลุง และ เลย


รศ.ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย วิศวกรโครงสร้าง ผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหว
จากคณะวิศวกรรมโยธา สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (เอไอที)
หัวหน้าคณะวิจัยในโครงการลดภัยพิบัติจากแผ่นดินไหวของประเทศไทย
(ระยะที่ 1) บอกว่า

ผลของแผ่นดินไหวของจีน ซึ่งมีแรงสั่นสะเทือนไปทั่วแผ่นดิน
อาจก่อให้เกิดแผ่นดินถล่มในบริเวณที่มีความลาดชัน
ส่งผลให้มวลดินหรือแผ่นหินเลื่อนไถลลงมายังพื้นที่ราบ
หรืออาจเกิดภาวะแผ่นดินยุบ ซึ่งคนไทยมักเรียกกันว่าธรณีสูบขึ้นได้

ในเมืองไทยโอกาสที่จะเกิด "แผ่นดินยุบ" เป็นหลุมกว้าง
หลังเกิดแผ่นดินไหว ขึ้นอยู่กับความแข็งแรงของเพดานโพรงหินปูน
ซึ่งอยู่ใต้ผิวดินแต่ละบริเวณ

ส่วนโอกาสที่จะเกิด "แผ่นดินถล่ม" ในเมืองไทย
ดร.เป็นหนึ่งบอกว่า ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบหลัก 2 อย่าง คือ
ชั้นดินซึ่งอยู่ใต้บริเวณนั้นอ่อนไหว
และพื้นที่บริเวณนั้นมีความลาดเอียง เช่น บริเวณที่ราบสูงต่างๆ
ทั้ง 2 กรณี อาจทำให้ก้อนธรณีหรือมวลดินมหึมาทรุดตัวลงมา
ยิ่งถ้าเกิดขึ้นบริเวณริมถนนหรือชุมชน ซึ่งมีสิ่งปลูกสร้างหนาแน่น
ถือว่าอันตราย

เขาบอกว่า กรณีแผ่นดินถล่มในบ้านเรา มีความเสี่ยงพอสมควร
แต่ยังไม่มีใครกล้าออกมาชี้ชัดได้ว่า บริเวณไหนบ้างมีความเสี่ยง
เพราะยังไม่มีใครศึกษาปัญหานี้จริงจัง

แต่ปัญหาเฉพาะหน้าที่น่าเป็นห่วงกว่าและหลายคนมองข้าม
ก็คือผลของแผ่นดินไหวที่มีต่ออาคารซึ่งถูกต่อเติมหรือก่อสร้างผิดแบบ

"เรามักจะย่ามใจกันว่า
ดูจากประวัติการเกิดแผ่นดินไหวในเมืองไทย ที่ผ่านมามักจะไม่รุนแรง
และมักเกิดตามรอยเลื่อนที่สำคัญ เช่น ในภาคเหนือ เคยมีแผ่นดินไหวขนาด 5-6 ริกเตอร์ เกิดขึ้น 8 ครั้ง ในรอบ 30 ปีมานี้"

"แต่หารู้ไม่ว่า แผ่นดินไหวขนาดกลางเพียง 5 ริกเตอร์กว่าๆ
ซึ่งคิดกันว่าไม่น่าอันตราย เป็นความเข้าใจผิดมหันต์
เพราะหากศูนย์กลางการเกิด อยู่ที่ภาคเหนือ หรือแถวกาญจนบุรี
ซึ่งยังมีรอยเลื่อนมีพลังอยู่ จะก่อความเสียหายอย่างมโหฬาร
เพราะมีรัศมีการทำลายที่อาจแผ่กว้างไปไกลถึง 20 กิโลเมตร"

ดร.เป็นหนึ่งบอกว่า
เรามักสนใจแต่เพียงว่ารอยเลื่อนหรือรอยแตกของแผ่นเปลือกโลก
ซึ่งมีการเคลื่อนตัวได้และเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหว
มีอยู่ 2 แบบหลักๆ

แบบแรก รอยเลื่อนที่ตายแล้ว (ไม่มีพลัง)
ส่วนใหญ่อยู่ในภาคอีสาน และภาคใต้ของไทย

อีกแบบ รอยเลื่อนที่ยังไ ม่ตาย (มีพลัง)
อยู่ในภาคเหนือ และภาคตะวันตก


"เราคิดว่ารอยเลื่อนพวกนั้นอยู่ไกลตัว และในรัศมีใกล้ กทม.
ไม่มีแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหว แต่หารู้ไม่ว่า ยังมีความเสี่ยง จ่อคอหอย
เพราะระยะห่างจาก กทม.โดยรอบ 200-400 กม. มีรอยเลื่อนใหญ่อันดามัน
ซึ่งอาจเกิดแผ่นดินไหวได้รุนแรงถึง 8 ริกเตอร์
และรอยเลื่อนย่อยที่กาญจนบุรี
มีโอกาสเกิดได้เกิน 7 ริกเตอร์"



"คุณรู้มั้ย ถ้าเกิดแผ่นดินไหวรุนแรง 7 ริกเตอร์กว่า
ที่เมืองกาญจน์ อาคารสูง ที่มีโครงสร้างอ่อนแอในกรุงเทพฯ
มีโอกาสโยกไหวรุนแรง
ดร.เป็นหนึ่งบอกว่า แม้ "แผ่นดินยุบ" และ "แผ่นดินถล่ม"
สร้างความน่าสะพรึงให้แก่ผู้อยู่ในบริเวณที่ล่อแหลม
แต่เมื่อเทียบระดับความน่าสะพรึงกันแล้ว
ทั้งรอยเลื่อนใหญ่ในทะเลอันดามัน
และรอยเลื่อนแขนงที่ จ.กาญจนบุรี
เปรียบเสมือนระเบิดเวลากลางเมืองกรุงที่น่าสะพรึงกว่า

สามรอยเลื่อนใกล้ศูนย์กลางแผ่นดินไหวโดยจากการสำรวจแนวรอยเลื่อนในไทย พบว่า
มีรอยเลื่อนที่อยู่ใกล้จุดศูนย์กลางแผ่นดินไหว
ที่ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่มากที่สุด คือ

หนึ่ง รอยเลื่อนมูลาว พาดผ่านอำเภอแม่สรวย อำเภอแม่ลาว
และอำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ในแนวทิศตะวันออกเฉียงเหนือ-ตะวันตกเฉียงใต้ มีความยาวประมาณ 23 กิโลเมตร

สอง รอยเลื่อนดอยหมอก พาดผ่านอำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย
ในแนวทิศตะวันตกเฉียงเหนือ-ตะวันออกเฉียงใต้
มีความยาวประมาณ 11 กิโลเมตร

และสามรอยเลื่อนแม่งัด พาดผ่านอำเภอดอยสะเก็ด และอำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ในแนวทิศตะวันตกเฉียงเหนือ-ตะวันออกเฉียงใต้ มีความยาวประมาณ 32 กิโลเมตร

สิ่งที่เราน่าติดตามและเฝ้าระวังก็คือ รอยเลื่อนแขนงต่างๆ ที่อยู่ในระนาบเดียวกัน ตั้งแต่ชวา เกาะสุมาตรา อันดามัน ไปจนถึงพม่า ซึ่งล่าสุดแรงสั่นสะเทือนนั้นได้พาดผ่านตามแนวมุดยาวขึ้นมาทางเหนือ


เป็นไปได้ว่า หากแนวมุดเกิดขยับขึ้นไปเชื่อมกับรอยเลื่อนสะแกงในพม่า
ก็จะมีแนวโน้มเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ 8 ริคเตอร์
ซึ่งมีพลังมหาศาลเทียบเท่าปรมาณูเป็นพันๆ ลูก

และในอนาคต อาจส่งผลกระทบต่อประเทศไทย
ตั้งแต่ฝั่งทะเลอันดามันทางตะวันตก
ยาวไปจนถึงภาคเหนืออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ขณะนี้นักธรณีวิทยาหลายคนกังวลว่า
นอกจากกลุ่มรอยเลื่อน 6 กลุ่มที่ต้องเร่งศึกษาความเสี่ยงแล้ว
ยังพบว่าพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) เองก็มีความเสี่ยง


เนื่องจากผลการศึกษาระยะที่ 1 โดยใช้ข้อมูลธรณีฟิสิกส์ทางอากาศ
พบว่ามีรอยแขนงที่แตกออกจากรอยเลื่อนด่านเจดีย์สามองค์

พาดผ่านเข้ามาทางพื้นที่ตอนใต้ของ กทม.
คือบริเวณ จ.สมุทรปราการ และวกเข้าไปใน จ.ชลบุรี

น่าเป็นห่วงว่าหากเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่หรือแม้แต่ระดับปานกลาง
จะกระทบกับพื้นที่กทม.อย่างมาก เพราะเป็นดินอ่อน
ที่สามารถขยายคลื่นความสั่นสะเทือนให้แรงเหมือนกับการหมุนวิทยุ
ให้เสียงดังขึ้น ทำให้เพิ่มความแรงได้มหาศาล

"รอยเลื่อนที่น่าจะเป็นส่วนต่อของรอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ยังไม่มีการศึกษาอย่างละเอียด มีเพียงบางท่อนที่ยังมีพลังอยู่ใกล้กับพื้นที่ไทรโยค
ศรีสวัสดิ์ และทางตอนใต้ของเขื่อนเขาแหลม มีแนวโน้มการมีพลังสูงมาก


รอยเลื่อนนี้ที่พาดผ่านจากชายแดนพม่า แขนงของมันจะต่อเลยจากด่านเจดีย์เข้ามาถึงทางใต้ของ กทม.
คือ บริเวณ จ.สมุทรปราการ ห่างจาก กทม.ประมาณ 25 กิโลเมตร
และอีกแขนงไปยัง อ.องครักษ์ จ.นครนายก
อีกแขนงไปยังบริเวณแม่น้ำท่าจีน จังหวัด นครปฐม



ในส่วนประเทศไทยมีถึง 13 รอยเลื่อน
ที่อันตรายที่สุดก็มี 2 จุดที่น่าเป็นห่วง
ที่แรกคือตรงรอยเลื่อนเจดีย์ 3 องค์ กับอีกที่คือรอยเลื่อนศรีสวัสดิ์
เพราะทั้งสองจุดนี้ยังมีพลังอยู่และอยู่ใกล้เขื่อนศรีนครินทร์
และเขื่อนวชิราลงกรณ์ ซึ่งเราเป็นห่วง

แต่ปัญหาคือการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยที่ออกมาประกาศว่า
เขื่อนศรีนครินทร์แข็งแรงมาก สามารถทนแรงแผ่นดินไหวได้ 7 ริกเตอร์

แต่การยืนยันเช่นนั้นมันแสดงให้เห็นว่า การก่อสร้างไม่ได้ทำเผื่อแผ่นดินไหวที่รุนแรงมากกว่านี้ เพราะอย่าประมาทว่าเมืองไทยจะแผ่นดินไหวแค่ 7 ริกเตอร์ หากมันเกิดรุนแรงกว่านั้น เขื่อนก็อาจจะแตก เพราะระหว่าง 8 ริกเตอร์กับ 7 ริกเตอร์ ความรุนแรงมันมากกว่ากันถึง 33 เท่า

ฉะนั้นถ้าการไฟฟ้าออกมาบอกโดยไม่ได้ศึกษาประวัติศาสตร์มันไม่ได้
เพราะรอยเลื่อนศรีสวัสดิ์กับรอยเลื่อนเจดีย์สามองค์
เป็นแขนงหนึ่งของรอยเลื่อนสแกงซึ่งอยู่ในพม่า
แล้วรอยเลื่อนสแกงเคยเกิดแผ่นดินไหวถึง 8 ริกเตอร์ เมื่อ 74 ปีที่แล้ว

การสร้างเขื่อนนั้นหมายถึงการสร้างสิ่งก่อสร้างที่ขวางทางน้ำ
ซึ่งตั้งสมมติฐานได้เลยว่า เส้นทางน้ำนั้นก็คือเป็นแนวที่วิ่งสอดคล้องกับรอยเลื่อนแผ่นดินไหวทางเดียวกันมาก่อน


ลำห้วยลำน้ำนั้น เกิดจากการเคลื่อนที่เป็นร่องเป็นหุบเขามาก่อน
ที่จะเกิดลำน้ำ และเขื่อนนั้นมาทีหลัง

ดังนั้น ทุกฝ่ายต้องมาคุยกัน ต้องเอาข้อมูลบนพื้นฐานความจริง
มาวางแผนร่วมกัน โดยควรมีการเร่งตรวจสอบโครงสร้างของเขื่อน
ว่ามีมาตรฐานแข็งแรงหรือไม่

และควรมีการติดตั้งระบบเตือนภัยในพื้นที่บริเวณที่มีเขื่อนที่อยู่ในรอยเลื่อนทั้งหมด ไม่ใช่เพียงแค่เขื่อนศรีนครินทร์ อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี และการเฝ้าระวังจะต้องมีอย่างต่อเนื่อง

เพราะแผ่นดินไหวนั้นมีการเคลื่อนตัวเป็นพลวัตรต่อเนื่องอยู่แล้ว
สุดท้าย ที่สำคัญที่สุด จะต้องมีการวางมาตรการวางแผนเตรียมตัวอพยพประชาชนที่เสี่ยงภัยออกจากพื้นที่ให้ทัน หากเขื่อนร้าวหรือแตก


กทม. ก็น่าห่วงตึกทรุดหากเกิดแผ่นดินไหว เหตุชั้นดินอ่อน
นอกจากพื้นที่ที่อยู่ในเขตรอยเลื่อนพาดผ่านทางภาคใต้ ฝั่งตะวันตก
ขึ้นไปถึงพม่า จะเป็นพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหวแล้ว


กรุงเทพฯ เป็นจุดที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง เนื่องจากรอยเลื่อนดังกล่าว จะมีผลกระทบต่อการขยายแรงสั่นสะเทือนของฐานรากซึ่งเป็นดินอ่อน
ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญ ที่จะทำให้โครงสร้างอาคาร ตึกสูงทรุดตัวลงได้


หากดูจากสถิติที่ผ่านมา จะรู้เลยว่า การเกิดแผ่นดินไหวในแต่ละครั้ง แม้จะอยู่ห่างไกลจากกรุงเทพฯ แต่ส่งผลกระทบรับรู้ได้ อย่างเช่น กรณีล่าสุด
ได้เกิดแผ่นดินไหวรุนแรง โดยมีศูนย์กลางอยู่ในประเทศจีน


ซึ่งกรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศว่าแผ่นดินไหวครั้งนั้น
รู้สึกสั่นสะเทือนได้ในอาคารสูงบางแห่งของกรุงเทพฯ

ทุกวันนี้อาคารสูงส่วนใหญ่ใน กทม.
ไม่มีการออกแบบเพื่อ ต้านทานแผ่นดินไหว
ส่วนในพื้นที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหวในภาคเหนือ
แม้ปัจจุบันมีกฎหมายบังคับให้ออกแบบอาคารสูง รองรับแผ่นดินไหว
แต่ในความเป็นจริงไม่มีใครสนใจปฏิบัติ


ทางออกที่ดีในการล้อมคอก
ก่อนเกิดปัญหาไม่คาดคิด สำหรับอาคารสูงในกรุงเทพฯ
หรือบางจังหวัดในภาคเหนือตอนบน ที่จะสร้างขึ้นใหม่
ควรนำกฎหมายมาบังคับใช้อย่างเข้มงวด
ให้มีการออกแบบโครงสร้างเผื่อรองรับกรณีแผ่นดินไหว


ส่วนอาคารสูงสำคัญหรือมีผู้ใช้งานมาก ที่สร้างขึ้นมาแล้ว
แต่ยังไม่มีระบบรองรับแผ่นดินไหว
แก้ไขได้โดยออกมาตรการบังคับให้เจ้าของอาคาร
เสริมตัวโครงสร้างทั้งคานและเสา โดยใส่เฟรมเหล็กเพิ่มเข้าไป
หรือปรับปรุงเสาและคานบางจุดให้แข็งแรงขึ้น
ไม่ก็ทำเป็นกำแพงคอนกรีตเสริมเหล็ก
(คสล.) เข้าช่วยในบางจุด เพื่อลดความอ่อนแอของตัวอาคาร

"
ถ้าคิดจะป้องกันแก้ไขจริงจังตอนนี้ ยังไม่สายเกินไป
แต่ถ้าไม่ทำอะไรเลย วันหน้าอาจสายเกินแก้
และต้องเสียใจกว่าเหตุการณ์สึนามิ"
เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมานี้ มีข่าวว่ามีฝูงคางคกจำนวนมากออกมาที่บางพระ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี และได้มีผู้พบเห็นไปโพสลงไว้ในเว็บบอร์ดกรมอุตุนิยมวิทยา ซึ่งเวลาผ่านไปไม่นาน ผู้ดูแลได้ลบกระทู้ดังกล่าวไป ทำให้เกิดความสงสัยในสมาชิกเว็บกรมอุตุฯเป็นอย่างมากว่าเพราะเหตุใด ผู้ดูแลถึงได้ลบกระทู้ดังกล่าวไป
กระทู้ที่สมาชิกเว็บสอบถามถึงสาเหตุที่ผู้ดูแลลบกระทู้ http://www2.tmd.go.th/webboard/show.php?Category=meteorology&No=7825
จากการค้นคว้าพบว่าบริเวณอ่างเก็บน้ำบางพระ มีน้ำพุร้อนอยู่จำนวน 3 บ่อ ซึ่งทางกรมชลประธารได้ทำประภาคารครอบไว้ ข้อมูลที่พบมีดังนี้
ที่ตั้ง
เขตห้ามล่าสัตว์ป่าอ่างเก็บน้ำบางพระ เลขที่ 46/2 หมู่ที่ 5 ตำบลบางพระ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี
ลักษณะธรณีวิทยา
หินดินดาน หินฟิลไลต์ หินทราย อายุไซลูเรียน-ดีโวเนียน

ลักษณะทางกายภาพ
มีจำนวน 3 บ่อ อยู่ใต้อ่างเก็บน้ำบางพระ บ่ออยู่ห่างจากริมขอบของฝั่งออกไปประมาณ 40-50 เมตร ในช่วงที่มีการก่อ สร้างอ่างเก็บน้ำบางพระ ทางกรมชลประทานได้ทำประภาคาร สร้างครอบตัวบ่อไว้
ลักษณะทางเคมี
ไม่มีข้อมูลเนื่องจากไม่สามารถสำรวจได้
          และจากรายการนาทีฉุกเฉิน ทาง ททบ.5 ที่พูดถึงเรื่องภัยพิบัติว่า ตอนนี้ภัยพิบัติแรงๆ เริ่มมาแล้ว ถี่ขึ้นมาก แล้วมีการ simulate ตามระดับความแรงของแผ่นดินไหวที่มีต่อ กทม.ยังบอกอีกว่า มีรอยเลื่อน จากกาญจน์ พาดผ่าน กทม ลงมาชลบุรี มาจบลงที่บางพระ (น้ำพุร้อน บางพระ ชลบุรี)  จึงเป็นที่มาของสาระน่ารู้ที่นำมาเสนอในครั้งนี้ ซึ่งจริงเท็จประการใด .. โปรดใช้วิจารณญาญในการรับรู้ข้อมูลด้วยตัวท่านเอง

 
ขอขอบคุณที่มาของเนื้อหาสาระข่าว http://www.chonburi33.com/index.php?name=knowledge&file=readknowledge&id=69