วันพุธที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

แผ่นดินไหวเชียงราย


แผ่นดินไหวที่อำเภอพาน พ.ศ. 2557 เกิดขึ้นเมื่อเวลา 18.08.43 น. ตามเวลาท้องถิ่นของประเทศไทย (UTC+7) ในวันที่ 5 พฤษภาคม 2557 สำนักเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา รายงานว่า จุดเหนือศูนย์เกิดแผ่นดินไหวอยู่ในตำบลทรายขาว อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย ต่อมา กรมทรัพยากรธรณี ระบุว่า การใช้เครื่องมือตรวจวัดได้ข้อสรุปใหม่ว่าศูนย์กลางการเกิดแผ่นดินไหวอยู่ที่ตำบลดงมะดะ อำเภอแม่ลาว จังหวัดเชียงราย เนื่องจากพบแนวรอยแยกปรากฏอยู่จำนวนมาก ส่วน USGS รายงานว่าจุดเหนือศูนย์เกิดแผ่นดินไหวอยู่ห่างจากอำเภอแม่ลาวไปทางใต้ 9 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากตัวเมืองจังหวัดเชียงรายไปทางตะวันตกเฉียงใต้ 27 กิโลเมตร มีผู้เสียชีวิต 2 คน

แผ่นดินไหวครั้งนี้เกิดขึ้นจากการปลดปล่อยพลังงานของรอยเลื่อนพะเยา จุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่ลึกลงไปใต้ดิน 6 กิโลเมตร ซึ่งถือว่าตื้น ทำให้มีความรุนแรงและความเสียหายเป็นอย่างมาก โดยแรงสั่นสะเทือนทำให้เกิดความเสียหายแก่สิ่งปลูกสร้างในระยะ 30 กิโลเมตรจากจุดศูนย์กลาง และมีแผ่นดินไหวตามมากอีกมากกว่า 100 ครั้ง ทั้งนี้ยังมีการให้เฝ้าระวังแผ่นดินไหวตามที่อาจเกิดขึ้นจากรอยเลื่อนพะเยาในจังหวัดเชียงราย จังหวัดพะเยาและจังหวัดลำปาง


แผ่นดินไหวครั้งนี้ถูกบันทึกว่าเป็นแผ่นดินไหวที่มีความรุนแรง เกิดแรงสั่นสะเทือนทั้งภาคเหนือของประเทศไทยและพม่าในช่วงเย็น ประชาชนหลายจังหวัดภาคเหนือ (รวมถึงเชียงราย เชียงใหม่และลำปาง) สามารถรับรู้แรงสั่นสะเทือนได้ หน้าต่าง ผนัง ถนนและวัดได้รับความเดือดร้อนจากแรงสั่นสะเทือน ในช่วงแรกยังไม่มีการค้นพบผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต จนต่อมามีรายงานข่าวพบผู้เสียชีวิตสองราย และผู้บาดเจ็บอีกหลายคน

ท่าอากาศยานนานาชาติเชียงราย ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหว ได้อพยพผู้โดยสารออกจากอาคารผู้โดยสารในทันที ขณะที่ดำรง คล่องอักขระ ผอ.การท่าอากาศยานฯ กล่าวว่า รันเวย์และเที่ยวบินไม่ได้รับผลกระทบจากแรงสั่นสะเทือน
เจ้าหน้าตำรวจในจังหวัดเชียงรายนายหนึ่งเล่าว่า สิ่งของในร้านค้ากระจัดกระจายไปทั่ว มีรอยแตกปรากฏตามอาคาร และพบถนนบางสายมีรอยแตกขนาดใหญ่
อาคารสูงในกรุงเทพมหานครได้รับอิทธิพลจากแผ่นดินไหว และยังรู้สึกได้จากย่างกุ้ง ประเทศพม่า ด้วย
ศูนย์เตรียมความพร้อมภัยพิบัติเอเชีย (Asian Disaster Preparedness Center) รายงานมีแรงสั่นสะเทือนกว่าร้อยครั้งตลอดทั้งวัน

6 พค 57 ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย (วสท.) ได้แถลงข่าวชี้แจงเกี่ยวกับเหตุแผ่นดินไหว ขนาด 6.3 แมกนิจูด บริเวณ อ.พาน จ.เชียงราย เมื่อช่วงเย็นวานนี้ (5 พ.ค.) โดยระบุว่า แผ่นดินไหวครั้งดังกล่าวเกิดจากพลังงานของรอยเลื่อนพะเยา จุดกำเนิดมีความลึกจากผิวดินประมาณ 6 กิโลเมตร ซึ่งค่อนข้างตื้นมาก ทำให้เกิดความรุนแรงสูงและสร้างความเสียหายเป็นอย่างมาก
ตามรายงานระบุว่า เหตุแผ่นดินไหว ขนาด 6.3 แมกนิจูด เมื่อวานนี้ นับเป็นแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงที่สุดเท่าที่เคยวัดได้ โดยมีศูนย์กลางเกิดขึ้นในประเทศไทย ซึ่งแรงสั่นสะเทือนทำให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งปลูกสร้างในพื้นที่รัศมี 30 กิโลเมตรจากจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหว อีกทั้งยังเกิดอาฟเตอร์ช็อกตามมาอีกกว่า 100 ครั้ง
ทั้งนี้ ทางนักวิชาการได้สั่งเฝ้าระวังพื้นที่ประสบภัยแผ่นดินไหว ให้ระวังการเกิดเหตุดินถล่มซ้ำ หลังเกิดแผ่นดินไหว เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยา ประกอบกับสภาพอากาศทางภาคเหนือในระยะนี้มีพายุฝนฟ้าคะนอง ทำให้ดินอ่อนตัวและเสี่ยงต่อการเกิดดินถล่ม หากเกิดอาฟเตอร์ช็อกรุนแรงตามมาอีกระลอก
สำหรับในประเทศไทย พบว่า มีแนวรอยเลื่อนใหญ่ๆ ที่ยังมีพลังงานอยู่หลายแนวด้วยกัน ครอบคลุมบริเวณภาคเหนือ ฝั่งตะวันตกของภาคกลาง และภาคใต้ฝั่งตะวันตก ซึ่งในพื้นที่ภาคเหนือพบรอยเลื่อนกว่า 10 รอย รอยเลื่อนที่สำคัญได้แก่ รอยเลื่อนแม่จัน พาดผ่าน จ.เชียงใหม่ และ จ.เชียงราย รอยเลื่อนแม่อิง พาดผ่าน จ.เชียงราย รอยเลื่อนแม่ทา พาดผ่าน จ.ลำพูน และ จ.เชียงใหม่ หรือ รอยเลื่อนพะเยา พาดผ่าน จ.เชียงราย จ.ลำปาง และ จ.พะเยา เป็นต้น
ขณะที่การสำรวจความเสียหายจากแแผ่นดินไหว โดยเฉพาะโบราณสถานและพระธาตุสำคัญทางภาคเหนือของประเทศไทย นายสนธยา คุณปลื้ม ปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ได้เปิดเผยว่า สั่งการให้อธิบดีกรมศิลปากรเร่งสำรวจความเสียหายที่เกิดขึ้นแล้ว โดยเฉพาะโบราณสถานในพื้นที่ จ.เชียงราย ซึ่งพบว่าหลายแห่งได้รับความเสียหาย
ส่วนในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ พระธาตุดอยสุเทพ ที่มีภาพแชร์ในโซเชียลเน็ตเวิร์กว่ามีการเอนเอียงของส่วนยอดพระธาตุ แต่จากการตรวจสอบในช่วงเช้าที่ผ่านมา พบว่ายอดพระธาตุไม่ได้รับความเสียหาย ยังคงอยู่ในสภาพเดิม แต่อาจจะเป็นเพราะมุมกล้องที่บันทึกภาพออกมา ส่วน พระธาตุหริภุญชัย จ.ลำพูน มีรายงานว่า แผ่นทองหุ้มพระธาตุเสียหาย

ความเสียหาย ส่วนใหญ่เป็นความเสียหายด้านอาคารสถานที่ ทั้งโบราณสถาน สถานที่ราชการ เส้นทางคมนาคมและบ้านเรือนของประชาชน ในพื้นที่ที่รับรู้ได้ถึงแรงสั่นสะเทือนโดยมีจังหวัดที่ได้รับผลกระทบทั้งหมด 7 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ พะเยา น่าน แพร่ ลำปาง และกำแพงเพชร ศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจแผ่นดินไหว จังหวัดเชียงราย สรุปสถานการณ์พื้นที่ประสบภัยในวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 ว่ามีพื้นที่ประสบภัยพิบัติ รวมทั้งสิ้น 7 อำเภอ 47 ตำบล 478 หมู่บ้าน บ้านเรือนเสียหายรวม 8,935 หลัง โดยที่อยู่อาศัยได้รับความเสียหายทั้งหลัง 116 หลัง ได้รับความเสียหายบางส่วน 8,463 หลัง, วัด 99 แห่ง, โบสตถ์คริสต์ 7 แห่ง, โรงเรียน 35 แห่ง, มหาวิทยาลัย 1 แห่ง, สถานพยาบาล 25 แห่ง โรงงานอุตสาหกรรม 6 แห่ง, โรงแรม 1 แห่ง, ถนน 5 สาย ตลิ่งพัง 1 แห่ง สะพาน 1 แห่ง และคอสะพาน 5 แห่ง
วัดร่องขุ่น มีรูปภาพบนผนังในโบสถ์ ที่ใช้เวลาสร้างมากกว่า 20 ปี และคาดว่าต้องใช้เวลาในการซ่อมกว่า 2 ปี โดยความเสียหายปัจจุบัน ได้แก่ ผนังภาพจิตรกรรมในโบสถ์ เป็นรอยร้าวยาว แผ่นสีภาพแตกร่อนออกมา สะพานด้านข้างโบสถ์แตกเสียหาย ยอดเจดีย์หักเบี้ยว หลังคาหอแสดงภาพจิตรกรรมแตก ทุกสิ่งทุกอย่างที่สร้างมานานต้องมาพังพินาศภายในวันเดียว เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติ ผู้บุกเบิกสร้างวัดร่องขุ่น กล่าวว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้น เป็นความเสียหายที่มีค่ามาก ไม่ใช่มูลค่าของสิ่งที่สร้าง แต่เป็นคุณค่าทางจิตใจ สร้างวัดนี้ขึ้นมาไม่เคยขอเงินใคร เป็นเงินที่ตนหามาเอง เฉลิมชัยกล่าวอีกว่า ส่วนไหนที่สามารถซ่อมได้ก็จะซ่อม แต่ถ้าส่วนไหนที่ซ่อมไม่ได้ก็จะปล่อยให้มันคงอยู่อย่างเดิม ไม่ทำลาย เพื่อเป็นอนุสรณ์รำลึกถึงการเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว 
วัดอุดมวารี ตำบลทรายขาว เศียรพระพุทธรูปปูนปั้นนามว่า พระพุทธอุดมมงคล หักลงเนื่องจากได้รับความเสียหาย และอาคารของวัดเกิดรอยแตก และเพดานได้รับความเสียหาย วัดอื่น ๆ ก็ได้รับความเสียหายเช่นกัน มีโบราณสถานเสียหาย 17 แห่งแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่ยอดหักเอียงตามแรงเหวี่ยงของแผ่นดินไหว รวมถึงโครงสร้างแตกร้าว
มีสถานพยาบาลในสังกัดได้รับความเสียหาย 7 แห่ง ส่วนใหญ่มีรอยร้าว แต่ไม่กระทบต่อโครงสร้างอาคาร ที่รุนแรง เช่น โรงพยาบาลแม่ลาว มีอาคารผู้ป่วยเดิมร้าวและทรุด เสาบางแห่งเห็นเหล็กโครงสร้าง สามารถให้บริการเฉพาะผู้ป่วยฉุกเฉินได้เท่านั้น ที่โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ อาคารเกิดรอยแยกและ แผ่นหินแตกออก กระจกในอาคารแตก โรงพยาบาลที่ได้รับความเสียหายหนักที่สุดได้แก่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลดงเทพนิมิตร ตำบลป่าอ้อดอนชัย มีโรงเรียนได้รับผลกระทบ 73 แห่ง มีโรงเรียนที่เสียหายหนัก 5 โรงเรียน อยู่ในอำเภอพาน อำเภอแม่ลาว และอำเภอแม่สรวย
ในอำเภอพาน มีถนนถูกฉีกตามรอยแตกที่รุนแรง กรมทางหลวง เปิดเผยข้อมูลหลังเกิดหลังแผ่นดินไหวว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นบนทางหลวง ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย มี 2 แห่ง ในทางหลวงสาย 118 ที่ตัดผ่านอำเภอแม่ลาว ช่วง กม. 147-152 มีการบิดตัวเสียรูปทรงเกือบทั้งหมด ผิวการจราจรแตกหักเสียหาย ทำให้ผิวจราจรต่างระดับกันเล็กน้อย
มีผู้เสียชีวิต 2 คน คนหนึ่งอยู่ในพื้นที่ ตำบลโป่งแพร่ อำเภอแม่ลาว เนื่องจากถูกผนังบ้านล้มทับบริเวณศีรษะ อีกคนหนึ่ง อยู่ในพื้นที่ ตำบลดงมะดะ อำเภอแม่ลาว เนื่องจากหัวใจวาย มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 23 ราย
สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ตั้ง ศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจแผ่นดินไหว จังหวัดเชียงราย ณ ศาลากลางจังหวัดเชียงราย มีผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายเป็นประธาน โดยเจ้าหน้าที่ได้ให้การช่วยเหลือด้านที่อยู่อาศัยด้วยการตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราว 2 จุด และการช่วยเหลือฟื้นฟูสภาพจิตใจผู้ประสบภัย และส่งทีมสำรวจความเสียหายที่เกิดขึ้นกับที่อยู่อาศัยของประชาชน โดยสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดเชียงราย ร่วมกับสถาวิศวกรรมสถาน ชมรมช่างท้องถิ่นจังหวัดเชียงราย ชมรมช่างท้องถิ่นจังหวัดเชียงใหม่ และวิศวกรอาสา จัดทีมช่างและวิศวกรลงพื้นที่ออกตรวจสอบความแข็งแรงของโครงสร้างอาคารและสิ่งกอ่สร้าง บ้านเรือนประชาชนก่อนที่เข้าไปอยู่อาศัย กว่า 200 คน จัดทีมแพทย์และเตรียมทำหนังสือขอขยายวงเงินการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่บ้านเสียหายทั้งหลัง จากเดิมที่สามารถชดเชยเงินให้ 33,000 บาท ให้สามารถชดเชยเงินได้สูงขึ้น

(7 พ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีเหตุแผ่นดินไหว ขนาด 6.3 แมกนิจูด บริเวณพื้นที่ อ.พาน จ.เชียงราย เมื่อช่วงเย็นวันที่ 5 พฤษภาคมที่ผ่านมา ส่งผลทำให้มีความเสียหายต่อสิ่งปลูกสร้างไปทั่วพื้นที่ โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่ใกล้กับจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหว
ขณะที่ในสังคมออนไลน์ยังคงมีการเผยแพร่ภาพความเสียหายที่เกิดขึ้นจากเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ครั้งดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดมีการแชร์ภาพปรากฏการณ์ประหลาดที่เกิดขึ้นหลังจากเกิดแผ่นดินไหว ผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ เหยี่ยวราตรี พเนจร ได้โพสต์ภาพและข้อความลงในเพจเฟซบุ๊ก "ชมรมคนฮักภาษากำเมือง" ระบุเป็นภาษาท้องถิ่นว่า "นี่ครับจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวตะวาน  มันดันออกปากน้ำบ่อคับ บะฮู้ว่ามันมาได้จะได เหตุเกิดที่แม่สรวย เจียงฮายครับ ภาพนี้บ่ได้จัดฉากนะคับมันเป็นเรื่องแต้ครับ"


จากตรวจสอบภาพถ่ายดังกล่าว พบว่าเป็นภาพน้ำดินโคลนสีเทาดำ ผุดขึ้นมาจากบ่อน้ำ อยู่ในพื้นที่ ต.ป่าแดด อ.แม่สรวย จ.เชียงราย จุดหนึ่งที่ได้รับความเสียหายจากเหตุแผ่นดินไหวครั้งดังกล่าว น้ำดินโคลนสีเทาดำ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า ลาวาขี้เปอะ คาดว่าอาจจะเป็นดินตะกอนที่สะสมอยู่ใต้ผืนดิน มีลักษณะคล้ายกับโคลนภูเขาไฟ เชื่อว่าน่าจะเป็นผลกระทบส่วนหนึ่งที่เกิดจากเหตุแผ่นดินไหวรุนแรงครั้งนี้ ทั้งนี้ยังพบว่าปรากฏการณ์ประหลาดในลักษณะนี้ได้เกิดอยู่อีกบางจุดในหมู่บ้านต่างๆ ละแวกใกล้เคียงกัน ซึ่งขณะนี้ชาวบ้านกำลังรอเจ้าหน้าที่และผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องเข้าไปตรวจสอบ